รากเทียม “Dental Implant”
เมื่อ “ฟันจ๋า” บอกลาเจ้าของ
การสูญเสียฟันไม่ว่าด้วยสาเหตุใด มักจะนำความวิตกกังวลมาสู่เจ้าของฟันเป็นอย่างมาก นอกจากจะสูญเสียความสวยงามและความมั่นใจในรอยยิ้มสำหรับฟันหน้าแล้ว การสูญเสียฟันหลังยังทำให้ฟันข้างเคียงล้มเอียง เศษอาหารติด และประสิทธิภาพในการเคี้ยวลดลง เมื่อไม่สามารถรับประทานอาหารได้ดี อาจจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในที่สุด
กว่าจะมาเป็น “รากเทียม”
จากการศึกษาวิจัยในการหาทางทดแทนฟันที่สูญเสียไปมายาวนานค้นพบว่า โลหะไทเทเนียม (titanium) มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้กระดูกของร่างกายยึดจับกับตัวโลหะได้อย่างแน่นหนา และเป็นวัสดุที่ร่ายกายยอมรับได้โดยไม่มีการต่อต้าน ทันตกรรมรากเทียมจึงเป็นทางเลือกใหม่ของการใส่ฟัน โดยฝังรากฟันเทียมที่สร้างมาจาก โลหะไทเทเนียม ลงในกระดูกขากรรไกร วัสดุนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการทำรากเทียมมานานกว่า 20 ปีแล้วและมีความสำเร็จในการทำสูงกว่าร้อยละ 90 การนำรากเทียมมาใช้ในการทดแทนฟัน ทำได้ในหลายกรณีตั้งแต่การทดแทนฟันซี่เดียว จนถึงการใช้รากเทียมในการรองรับฟันเทียมทั้งปาก เพื่อช่วยให้ยึดให้ฟันเทียมแน่นขึ้นได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสะพานฟัน ซึ่งเป็นวิธีการใส่ฟันติดแน่นที่นิยมใช้กันอยู่เดิม
แล้ว “รากเทียม” ที่ว่า ดีกว่าการใส่ฟันแบบอื่นๆ อย่างไร ?
ข้อดีที่เด่นชัดของรากเทียมคือ มีลักษณะคล้ายฟันธรรมชาติมาก สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยฟันข้างเคียงเพื่อเป็นหลักยึด ในขณะที่การทำสะพานฟันจะต้องมีการกรอเนื้อฟันข้างเคียงเพื่อทำครอบฟันสวมลงไปและเชื่อมต่อกับส่วนที่เป็นฟันแขวนเพื่อทดแทนฟัน ในกรณีที่ฟันที่เป็นหลักยึดของสะพานฟันมีปัญหา ก็จะทำให้ต้องมีการรื้อสะพานฟันไปด้วย นอกจากนี้รากเทียมยังสามารถทำได้ในกรณีที่ต้องการทดแทนฟันด้านในสุด ซึ่งไม่สามารถทำสะพานฟันได้ เนื่องจากไม่มีฟันหลักให้ยึด ในอดีตการใส่ฟันสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีฟันหลังสำหรับเป็นหลักยึด จะต้องใช้ฟันเทียมชนิดถอดได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความรำคาญได้ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีฟันเทียมทั้งปาก แต่มีสันกระดูกที่บาง ฟันเทียมดังกล่าวมักจะค่อนข้างหลวมและไม่สามารถใช้งานได้ดี อีกทั้งอาจจะทำให้เกิดความกังวลว่าฟันเทียมจะหลุดได้ง่าย ลักษณะแบบนี้รากเทียมอาจถูกนำมาใช้เป็นหลักยึดให้ฟันเทียมทั้งปากแน่นขึ้นได้ เพื่อให้สามารถใช้ในการบดเคี้ยวได้ดีขึ้น และรู้สึกมั่นใจในรอยยิ้มได้ดีขึ้น
ปัจจัยที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของรากเทียม คือ
รากเทียมต้องฝังอยู่ในกระดูกที่มีความหนาเพียงพอในทุกๆด้าน
หลังจากที่ฟันธรรมชาติถูกถอนไป สันกระดูกจะมีการละลายตัวไป หากสันกระดูกมีการละลายตัวไปมาก จะต้องมีการปลูกกระดูกก่อนการฝังรากเทียม ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการรักษาใช้ระยะเวลานานขึ้น
จะสร้างรากขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร?
โดยทั่วไปการทำรากเทียมแบ่งเป็น 2 ช่วง ขั้นตอนแรกเป็นการผ่าตัดเพื่อฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร หลังจากนั้นต้องทิ้งช่วงเวลาให้แผลหายและมีการสร้างกระดูก ล้อมรอบรากเทียม ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-10 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพกระดูกตั้งต้นของผู้ป่วย ขั้นตอนต่อไป เมื่อรากเทียมยึดติดกับกระดูกแล้ว จึงทำการต่อรากเทียมกับเดือยฟัน เพื่อใช้เป็นฐานรองรับครอบฟัน หรือฟันปลอมต่อไป
ใครกันบ้างที่เหมาะกับรากเทียม?
รากฟันเทียมสามารถทำได้กับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะรับการผ่าตัดในช่องปากได้ ในกรณีวัยรุ่น จะยังมีการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกร จึงจำเป็นต้องรอให้หยุดการเจริญเติบโตก่อน เพื่อที่จะสามารถใส่รากฟันเทียมในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ และไม่สร้างปัญหาในการขัดขวางการเจริญของกระดูกขากรรไกร
รากเทียมเหมือนฟันจริงๆ แม้กระทั่งต้องดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกับฟันธรรมชาติ
แม้รากฟันเทียมจะเป็นวิทยาการที่ดีที่สุดในปัจจุบันในการทดแทนฟัน แต่รากฟันเทียมอาจมีปัญหาได้ เช่นการเป็นโรคเหงือกรอบรากเทียม การรับแรงที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดการละลายตัวของกระดูกรอบรากเทียม ส่งผลให้รากฟันเทียมไม่แข็งแรง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว หลังจากได้รับการทำรากฟันเทียมผู้ป่วยจะต้องให้ทำการดูแลรักษารากฟันเทียมประหนึ่งฟันธรรมชาติ โดยการหมั่นแปรงฟันทำความสะอาดหลังรับประทานอาหาร ด้วยแปรงที่มีขนนุ่ม ควบคู่ไปกับการใช้ไหมขัดฟัน และควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารที่มีความแข็งหรือเหนียวเกินไปด้วย และควรกลับมาตรวจเช็คสภาพเหงือกและกระดูกรอบรากฟันเทียม รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 6 เดือน [simple-retail-menu id=”11″ header=”h3″]